โครงการแผนที่น้ำบาดาล (อีสานกลาง)

  • ลักษณะโครงการ: Groundwater Well Drilling

โครงการศึกษา สำรวจและจัดทำแผนที่น้ำบาดาลขั้นรายละเอียด มาตราส่วน 1:50,000

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง พื้นที่ 1

       กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีภารกิจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำและรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำบาดาลพร้อมทั้งปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวให้มีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลของประเทศทั้งโดยภาครัฐภาคเอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงมีนโยบายจัดทำโครงการศึกษา สำรวจและจัดทำแผนที่น้ำบาดาลขั้นรายละเอียด มาตราส่วน 1:50,000 ครอบคลุมทั้งประเทศไทย เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทันต่อความต้องในพื้นที่ที่มีความขาดแคลนน้ำบาดาล

       การจัดทำจัดทำแผนที่น้ำบาดาลขั้นรายละเอียด มาตราส่วน 1:50,000 ทั้งประเทศไทย ได้มีการแบ่งพื้นที่ตามงบประมาณในแต่ละปี ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยได้ดำเนินการสำรวจจัดเก็บรวบรวมข้อมูล  ในพื้นที่เจ้าพระยาตอนบน พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ซึ่งมีบริษัท วอเตอร์ ดีเว็ลลัฟเม็นท์ คอนซัลแท็นส์ กรุ๊ป จำกัด ที่ได้รับความไว้วางใจในความเชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรน้ำผิวดิน และทรัพยากรน้ำบาดาล ให้เป็นบริษัทที่ปรึกษา ในการจัดทำแผนที่น้ำบาดาลฯ

       การเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำแผนที่น้ำบาดาลฯ ต้องอาศัยประสบการณ์ และความชำนาญ อย่างมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ มีบริษัท สยามกราวด์วอเตอร์ จำกัด เป็นตัวแทนในการดำเนินงานสำรวจภาคสนาม ของ โครงการจัดทำแผนที่น้ำบาดาลฯ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง พื้นที่ 1 ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ  บางส่วนของจังหวัดขอนแก่น  จังหวัดเลย  จังหวัดเพชรบูรณ์  จังหวัดนครราชสีมา  และจังหวัดลพบุรี โดยงานสำรวจภาคสนามที่ทาง บริษัท สยามกราวด์วอเตอร์ จำกัด ได้รับผิดชอบดำเนินการมีดังนี้

1. งานสำรวจสถานภาพบ่อ( Inventory wells) จำนวน 1,610 บ่อ เพื่อทราบระดับน้ำ และคุณภาพน้ำบาดาล ในพื้นที่โครงการ และใช้ประกอบกับการจัดทำข้อมูลคุณภาพน้ำบาดาล

 

2. งานสูบทดสอบปริมาณน้ำ(Pumping test) จำนวน 230 บ่อ เพื่อทราบปริมาณน้ำบาดาล ในพื้นที่โครงการ และใช้ประกอบกับการจัดทำข้อมูลปริมาณน้ำบาดาล

 

3. งานสำรวจธรณีฟิสิกส์แบบจุดบนผิวดิน (Resistivity survey Method, Vertical Electrical Sounding, VES) จำนวน 1,820 จุด เป็นการสำรวจวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า เพื่อนำมาวิเคราะห์ ประมวลผล เป็นข้อมูลลักษณะชั้นดิน ชั้นหิน และชั้นน้ำบาดาล ส่วนข้อมูลที่ได้นำไปใช้ประกอบกับการจำลองแผนที่สามมิติ

 

4. งานสำรวจธรณีฟิสิกส์แบบภาคตัดขวาง (Resistivity  Cross-section) จำนวน 780 จุด เป็นการสำรวจวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าเช่นเดียวกับงานสำรวจธรณีฟิสิกส์แบบจุดบนผิวดิน แต่มีการวางจุดสำรวจที่มีระยะห่างต่อจุดสม่ำเสมอเป็นแนวตัดผ่านบริเวณพื้นที่ที่ต้องการข้อมูลมาก เพื่อความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลในการนำไปใช้ประกอบกับการจำลองแผนที่สามมิติ

 

5. งานหยั่งสำรวจธรณีฟิสิกส์ (Gamma ray log) จำนวน 230 บ่อ เป็นการสำรวจวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า ในแนวดิ่ง ที่มีความน่าเชื่อถือของข้อมูลมากกว่าการสำรวจธรณีฟิสิกส์แบบจุดบนผิวดิน เพื่อความถูกต้องและแม่นยำของข้อมูล ในการนำไปใช้ประกอบการจัดทำแผนที่น้ำบาดาล และจำลองในลักษณะสามมิติ

 

6. งานเจาะสำรวจแบบเก็บตัวอย่างตะกอนแท่งหินงานเจาะสำรวจพัฒนาบ่อน้ำบาดาลและงานเจาะสำรวจพัฒนาบ่อสังเกตการณ์ระดับน้ำบาดาลเพื่อสำรวจศึกษาชั้นน้ำบาดาลและลักษณะทางธรณีตามหมวดหินให้น้ำต่างๆกระจายทั่วพื้นที่โครงการฯข้อมูลจากการเจาะสำรวจเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพมากที่สุดที่ใช้ในการจัดทำแผนที่น้ำบาดาลโดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

การเจาะสำรวจศึกษา


การเป่าล้างพัฒนาบ่อ


การสูบทดสอบปริมาณน้ำบาดาล


การก่อสร้างบ่อพร้อมติดตั้งรั้วบ่อสังเกตการณ์

       ผลการเจาะบ่อสำรวจน้ำบาดาล  และบ่อสังเกตการณ์ในครั้งนี้ทำให้โครงการฯประสบผลความสำเร็จ  ในการเจาะสำรวจหาชั้นน้ำบาดาลใหม่และพบปริมาณน้ำมากซึ่งเป็นผลมาจากการรวบรวมข้อมูลต่างๆการวางแผนศึกษาการทำงานและการสำรวจธรณีฟิสิกส์

       โดยงานภาคสนาม ได้ดำเนินการแล้วเสร็จทันตามกำหนด  ส่งมอบผลงาน  เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวให้ผู้เชี่ยวชาญ ไปประมวลผล และจัดทำแผนที่น้ำบาดาลต่อไป